โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ที่พ่วงมาด้วยฟังก์ชันสุดล้ำยุค แม้ทางหนึ่งจะถูกยกว่าเป็นความสำเร็จของการพัฒนาทางเทคโนโลยี
แต่อีกทางหนึ่งความสามารถที่เหนือกว่าการเป็นเพียงอุปกรณ์สื่อสารด้วยเสียงได้นำพาภัยคุกคามมาสู่ผู้ใช้ที่ยังไม่มีวุฒิภาวะจะตัดสินใจได้ว่าสิ่งที่พวกเขาได้รับ และเห็นอยู่นั้นเหมาะสมแล้วหรือไม่
บทคาดการณ์หนึ่งของผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกรรมโทรคมนาคมระบุว่า ภัยร้ายที่แฝงมาพร้อมกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่กำลังขยายพรมแดนสู่การใช้งานบนมือถือ ได้เริ่มทวีความวิตกกังวลให้พ่อแม่-ผู้ปกครองคิดหาหนทางที่จะสามารถควบคุมดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ ส่วนตัวของบุตรหลานมากยิ่งขึ้น
เนื่องจากการควบคุมดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กๆ จากการใช้งานภายในบ้านทำได้ง่ายกว่าการใช้อินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งได้ถูกวางฐานะให้เป็นของใช้ส่วนตัว ทั้งยังเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการใช้งานอย่างอิสระสำหรับผู้ใช้ทุกคน
นอกจากนี้แม้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตบนมือถืออย่างเต็มประสิทธิภาพจะทำให้การใช้งานเครือข่ายหนักขึ้น กลับยิ่งทำให้ผู้บริการระบบเร่งพัฒนาเครือข่ายในการให้บริการ ทั้งยังประกาศเจตนารมณ์ในการขยายขีดความสามารถในการให้บริการอินเทอร์เน็ตบนมือถือมากยิ่งขึ้น
ความร่วมมือผู้ให้บริการระบบ
นายแฟรงค์ โรฟแคมป์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของโวดาโฟน กล่าวว่า แม้ปัจจุบันผู้ใช้จะสามารถเข้าดูเวบไซต์จากเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไปได้มากกว่าเวบไซต์บนมือถือ แต่ในฐานะของผู้ให้บริการก็กำลังพยายามพัฒนาให้สามารถใช้งานเวบไซต์บนมือถือได้มากกว่าที่เคยเป็น
ขณะที่ประเด็นของความวิตกกังวลต่อภัยไซเบอร์จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่เร่งปฏิกิริยาให้ครอบครัวเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กๆ แต่ปัญหาเรื่องของค่าใช้มือถือ, พฤติกรรมทางสังคม และการใช้มือถือในโรงเรียนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้องเพิ่มความเข้มงวดในการออกกฎระเบียบควบคุมการใช้มือถือของเด็กๆ มากยิ่งขึ้น
นายไมเคิล แอนเดอร์สัน รองประธานอาวุโสของเทลคอร์เดีย บริษัทซอฟต์แวร์ที่ช่วยดิสนีย์พัฒนามือถือเครื่องแรกที่ช่วยตรวจตราการใช้มือถือของเด็กๆ บอกว่า เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่สามารถควบคุม และแนะนำได้ แต่หลายคนมองว่าผู้ให้บริการระบบพัฒนาเทคโนโลยีที่เปิดโอกาสให้ครอบครัวควบคุมดูแลพฤติกรรม และจำกัดการใช้มือถือของเด็กๆ ได้เป็นไปอย่างเชื่องช้า
อย่างไรก็ตาม การเปิดตัวของ "ดิสนีย์ โฟน" ในสหรัฐ เมื่อปีที่ผ่านมาถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของโทรศัพท์มือถือที่ช่วยเพิ่มอำนาจให้ผู้ปกครองควบคุมดูแลการใช้มือถือของเด็กๆ ซึ่งดูแลได้ถึงขั้นที่สามารถระบุได้ว่าเมื่อใดควรใช้มือถือ หรือเวบไซต์ใด้ที่สามารถเข้าได้ รวมถึงการควบคุมเพดานค่าโทรของเด็กๆ
ปิ๊งไอเดียพัฒนาซอฟต์แวร์คุมการใช้เวบ
ขณะที่ มุมของคอนเทนท์ก็มีการให้บริการคอนเทนท์ที่ไม่เหมาะสมผ่านเวบบนมือถือด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ผู้ให้บริการมีระบบป้องกันที่พัฒนาขึ้นโดยให้ผู้ใช้ยืนยันอายุในการเข้าใช้เวบไซต์ ทั้งในบางประเทศมีกฎหมายห้ามเผยแพร่เวบไซต์ลามกบนโทรศัพท์มือถือ
นอกจากนี้ "เจนโมบิ" กลุ่มเทคโนโลยีในสหรัฐได้เสนอแนะทางออกสำหรับครอบครัวที่ต้องการเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือของบุตรหลาน
โดยบริษัทได้พัฒนาโปรแกรม "บัซซ์ คิดซ์ (Buzz Kidz)" และ "บัซซ์ ทีนซ์ (Buzz Teenz)" ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่จะจำกัดการเข้าดูเวบไซต์บนมือถือ และบริการคุยผ่านโปรแกรมได้เฉพาะที่อนุญาตให้เข้าใช้ได้เท่านั้น ทั้งยังมีระบบตรวจจับการใช้คำไม่สุภาพโดยจะรายงานให้ผู้ปกครองทราบเมื่อมีการพิมพ์ข้อความแลกเปลี่ยนกันผ่านโปรแกรม
ปัจจุบันกำลังเจรจากับผู้ให้บริการระบบหลายราย ซึ่งคาดว่าจะสามารถให้บริการดังกล่าวได้ในแถบยุโรป สหรัฐ และเอเชีย
นายนิค เลน นักวิเคราะห์อาวุโสจากบริษัทที่ปรึกษาด้านโทรคมอินโฟม่าระบุว่า ความกังวลเกี่ยวกับคอนเทนท์ไม่เหมาะสมบนมือถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะทำให้เป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากความซับซ้อนของฟังก์ชันบนมือถือ และพัฒนาการของเครือข่ายในอนาคตอาจนำมาซึ่งปัญหาที่ใหญ่กว่า
"คอนเทนท์บนมือถือยังเป็นบริการที่อยู่ในกลุ่มจำกัด ซึ่งหากว่าในอนาคตเริ่มมีการใช้งานมากขึ้นก็อาจจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่ช่วยควบคุมดูแลในการให้บริการที่ ถูกที่ถูกทาง"
ข้อมูลจากกลุ่มสหภาพยุโรประบุว่า ในปีที่ผ่านมาประชากรยุโรปอายุระหว่าง 12-13 ปี ราว 70% มีมือถือเป็นของตัวเอง ขณะที่เด็กอายุระหว่าง 8-9 ปี ราว 23% มีมือถือเป็นของตัวเอง ใกล้เคียงกับสัดส่วนการมีมือถือของประชากรเยอรมันอายุระหว่าง 12-19 ปี ซึ่งราว 92% มีมือถือเป็นของตัวเอง
"ยุโรปเป็นกลุ่มประเทศผู้นำของโลกที่มีประชากรในวัยเด็กอายุระหว่าง 5-9 ปี มีมือถือใช้สูงที่สุดในโลก ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรปอาจช่วยตัดสินได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพื้นที่ในส่วนที่เหลือของโลก" นายไมเคิล ชัลต์ซ หัวหน้าคณะผู้บริหาร (ซีอีโอ) และผู้ก่อตั้งเจนโมบิ กล่าว
วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น